เกี่ยวกับเรา

การพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์มีเป้าหมายการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ รวมทั้งมีการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง สามารถเป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่และอื่น ๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตนเอง 

          นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์) เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๓ ที่มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาคน ให้เป็น Smart Citizen โดยจะต้องเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้ ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ทุกช่วงวัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ตามความต้องการของผู้เรียน (Modular System) พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ เช่น ควบรวมหลักสูตร/สาขาที่มีความซ้ำซ้อนกัน เรียนรู้ผ่านออนไลน์ เป็นต้น

          จุดเน้นในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ ของการสร้างและพัฒนาคน คือ มุ่งสร้างและพัฒนาคนที่ส่งผลถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนใน ชุมชน ท้องถิ่น และการลดความเหลื่อมล้ำ ใน ๓ แผนงาน/โครงการสำคัญ คือ

                    ๑. ยุวชนสร้างชาติ : สร้างและพัฒนาคนทุกช่วงวัยที่ต้นน้ำ (Upstream) โดยมี กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยและบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน ๓ ปี ภายใต้แนวคิด “สร้างงาน สร้าง อาชีพ”

                    ๒. Man Power : สร้างและพัฒนาคนที่กลางน้ำ (Midstream) โดยการ Reskill (พัฒนา ทักษะใหม่) และ Upskill (เพิ่มทักษะ) มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน รวมทั้งกลุ่มคนที่ต้องการเรียนรู้แบบ non-degree ภายใต้กรอบแนวคิด “การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)” เพื่อตอบโจทย์ประเทศใน สภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Disruption) การสร้างกำลังคนที่จบวุฒิปริญญาไม่ทันต่อ ความต้องการเร่งด่วนด้านการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาเรื่องทักษะจากวุฒิการศึกษาที่ไม่ ตอบสนองต่อความต้องการของสถานประกอบการ พร้อมทั้งสนับสนุนธนาคารหน่วยกิต

                    ๓. Brain Power : เป็นการพัฒนาพลังสมองของประเทศ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนทุนในต่างประเทศ นักวิชาชีพไทยในต่างประเทศ และนักวิจัยขั้นแนวหน้าทั้งคนไทยและต่างประเทศ มาใช้ประโยชน์ โดยมีมาตรการหรือระบบแรงจูงใจที่ดึงดูดคนเหล่านี้ให้มีการนำองค์ความรู้และงานวิจัยกลับมาช่วย พัฒนาประเทศ

          กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บูรณาการความร่วมมือการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงฯ สถาบัน มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในรูปแบบของหลักสูตรประกาศนียบัตร (non degree) และปริญญาคู่ (dual degree).