อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบด้วยธุรกิจหลายประเภทที่เกี่ยวข้องและช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ นับเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้ดีและนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเทศไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2559-2568) และเป็นศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน
แนวโน้มของสภาวะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยปี 2559 มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ10.9 ในปี 2558 Global Wellness Institute (GWI) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยมีขนาดตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลกโดยมีการใช้จ่าย 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีจำนวนการเดินทาง 9.7 ล้านครั้ง ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีการนำศาสตร์ในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทยมาประกอบในการบริการทางสุขภาพทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ สภาวการณ์ที่ประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นสาเหตุให้คนเพิ่มความสำคัญกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งสุขภาพทางกาย และทางจิตใจ รวมทั้งด้านความงาม และการชะลอวัย โดยมีพฤติกรรมเน้นการป้องกันก่อนการเจ็บป่วย พร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อสินค้าและบริการที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น สปาและการนวดแผนไทยเป็นกิจกรรมในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนธุรกิจทางด้านสปา และผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาทิ เช่น ลูกประคบสมุนไพร ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism) ที่เข้มแข็งได้
ลูกประคบสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไทย เกิดจากการนำสมุนไพรพื้นบ้านชนิดต่างๆ มาใช้ประโยชน์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้ในสปาหรือการนวดแผนโบราณโดยใช้วางประคบตามส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย คลายกล้ามเนื้อ คลายความเครียด ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น ส่วนประกอบหลักของพืชสมุนไพรในลูกประคบ ได้แก่ ไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ และอาจผสมสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย เกลือ การบูร พิมเสน ขั้นตอนการผลิตลูกประคบสมุนไพรทำได้โดยนำสมุนไพรมาทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากให้แห้ง และห่อด้วยผ้าดิบหรือผ้าฝ้าย แล้วมัดให้แน่นเป็นลูกกลมๆ หรืออาจทำเป็นหมอน หรือถุงผ้า เมื่อจะใช้ต้องทำให้ชุ่มโดยการนำไปนึ่ง หรือพรมน้ำแล้วนำไปให้ความร้อนโดยใช้เตาไมโครเวฟแล้วจึงนำมาประคบตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ปัจจุบันลูกประคบสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประคบในสปาหรือการนวดแผนโบราณ และมีการส่งออกเพื่อนำไปใช้ในสปาในต่างประเทศ
โดยทั่วไปการผลิตลูกประคบเพื่อจำหน่าย นิยมใช้สมุนไพรแบบที่ทำให้แห้งแล้วนำมาห่อเป็น ลูกประคบ ซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บรักษาไว้ได้นานหลายเดือน แต่การทำสมุนไพรให้แห้งโดยการอบหรือตากแดดนั้น หากทำไม่ถูกวิธีจะส่งผลให้สมุนไพรเกิดเชื้อรา และมีกลิ่นอับ โดยเฉพาะฤดูฝน ซึ่งความชื้นในอากาศสูง เป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการพบในขั้นตอนการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์และการจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปต่างประเทศที่มีข้อกำหนดที่เข้มงวดในการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากพืช
วศ. ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการยืดอายุผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพรแห้ง การจัดการวัตถุดิบสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกสมุนไพร การล้าง หั่น อบ และการเก็บรักษาสมุนไพร ทำให้ลูกประคบสมุนไพรปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์ แมลงและไข่แมลง สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยที่ยังคงมีกลิ่นและสีของสมุนไพรเหมือนเดิม สูตรการผลิตและสัดส่วนการผสมสมุนไพรของ วศ. ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงกลิ่นหอมของสมุนไพร ปราศจากสิ่งปนเปื้อน มีความชื้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น สามารถพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนลูกประคบสมุนไพร นอกจากนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดการผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานจำหน่าย เป็นการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
หัวข้อ |
รายละเอียดหลักสูตร |
จำนวนชั่วโมง |
|
|
|
ทฤษฎี |
ปฏิบัติ |
1 |
หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) |
2.0 |
|
2 |
องค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพร |
1.0 |
|
3 |
การจัดการวัตถุดิบสมุนไพร
|
2.0 |
|
4 |
มาตรฐานลูกประคบสมุนไพร
|
1.0 |
|
5 |
ฝึกปฏิบัติ
|
|
6.0 |
6 |
ฝึกปฏิบัติการผลิตลูกประคบสมุนไพร |
|
3.0 |
7 |
การวิเคราะห์ผลการทดสอบความชื้นและปริมาณจุลินทรีย์ของผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพร |
|
3.0 |
|
รวมทฤษฎี-ปฏิบัติ |
6.0 |
12.0 |
|
Man-Hours |
18.0 |
-